September 1, 2021

“Facebook กำลังทำลายกลไกลจริยธรรมทางสังคมด้วยนโยบายที่ขาดความเข้าใจด้านสังคม วัฒนธรรมอันหลากหลาย และคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์”

31 พฤษภาคม ผมถูกแบนจาก Facebook เนื่องจาก โพสต์ข้อความว่า “ใครมีรถถังให้เช่าบ้าง กูจะขับไปจ่อยิงหน้าบ้านไอ้เหี้ยตู่” ซึ่งเป็นอะไรที่โง่มาก โดยการแบนนั้นประกอบไปด้วย 3 เงื่อนไขหลัก ๆ ก็คือ 1. ห้ามไม่ให้โพสต์หรือแชร์หรือกดไลก์ข้อความใด ๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง 2. ห้ามไม่ให้บูสโพสต์เป็นเวลา 30 วัน และ 3. ห้ามไม่ให้ Live เป็นเวลา 30 วัน

หลังจากนั้น 24 ชั่วโมงต่อมาหลังจากที่ Facebook ปลดแบน ผมได้โพสต์ข้อความเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และด่า Facebook (ฮา) หลังจากนั้น ผมก็ถูกแบนต่ออีก 3 วัน (อะไรวะเนี่ย)

ซึ่งเราจะมาวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกัน ว่าการกระทำของ Facebook นั้น เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ และทำลายประชาธิปไตยอย่างไร และอะไรคือการ Moderate สังคมออนไลน์ตามแบบที่มันควรเป็น?

ก่อนอื่น ผมอยากเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของสเตตัส “ใครมีรถถังให้เช่าบ้าง กูจะขับไปจ่อยิงหน้าบ้านไอ้เหี้ยตู่” ก่อน ก่อนหน้านี้ 2-3 วัน ผมได้โพสต์สเตตัสเล่าเรื่อง Soft Power vs. Hard Power โดยเปรียบเทียบกับการทำรัฐประหาร ให้เราลองนึกภาพว่า ทำไมทหารถึงทำรัฐประหารได้? สาเหตุก็เพราะว่าทหารนั้นมีอาวุธ ถ้าเกิดว่าทหารไม่มีอาวุธ ไม่มีกองกำลัง การทำรัฐประหารไม่มีทางสำเร็จ เพราะเราไม่สามารถอยู่ดี ๆ เดินไปหานายกฯ แล้วบอกว่า “ฉันมายึดอำนาจนะจ๊ะ” ได้ ในทางกลับกัน การรัฐประหารเกิดขึ้นได้เพราะกองทัพมีกองกำลัง (ในประกาศ คสช. หลังรัฐประหาร จึงมีประกาศห้ามเคลื่อนย้างกองกำลัง) ดังนั้น แค่คุณเป็นกองทัพ คุณก็สามารถยึดอำนาจอธิปไตยโดยการใช้รถถังได้แล้ว

การโพสต์สเตตัสว่า “ใครมีรถถังให้เช่าบ้าง กูจะขับไปจ่อยิงหน้าบ้านไอ้เหี้ยตู่” จึงเป็นการคิดเชิงย้อนกลับของกระบวนการการทำรัฐประหาร ว่าถ้าเกิดประชาชนมีกองกำลัง ถ้าเกิดประชาชนมีอาวุธ หรือสามารถต่อสู้กับกองทัพได้ เราก็จะสามารถทำการปฏิวัติได้เช่นกัน แต่ในการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบัน เป็นการใช้ Soft Power ต่อสู้กับ Hard Power ล้วน ๆ การจัดม็อบ การจัดกิจกรรม การใช้ปากพูด เป็น Soft Power หรือแม้กระทั่งการปะทะกันของผู้ชุมนุมที่ดินแดงกับตำรวจ ต่อให้บอกว่าเป็น Hard Power (มีการเขวี้ยงหิน ยิงหนักสติ๊ก ปาพลุ) แต่ก็ไม่สามารถเทียบกับกองกำลังของรัฐได้เลย แถมฝ่ายรัฐยังมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยอีก (การจับเข้าคุกเป็น Hard Power) ดังนั้น ตอนนี้การต่อสู้กับรัฐบาลรัฐประหาร ประชาชนนั้นเสียบเปรียบกว่าหลายเท่า

“การด่าทอ”, “การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง”, “การระบายอารมณ์” จึงเป็นหนึ่งในกระบวนการ ที่เกิดขึ้นโดย Organic ของมันเอง และถ้า Facebook ยังปิดกั้นการกระทำเหล่านี้ เท่ากับว่า Facebook ปิดกั้นเสรีภาพและลดทอนพลังอันน้อยนิดที่ประชาชนในประเทศที่ถูกกฎขี่จะสามารถสู้ได้ และนับว่าเป็นการ Take action ก่อนหน้าการตัดสินของ “บรรทัดฐานทางสังคม” และ “กฎหมาย” ของประเทศนั้น ๆ เสียอีก

นึกภาพดูว่า ต่อให้อำนาจของกฎหมายไม่ยุติธรรม และการควบคุมได้ด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าบรรทัดฐานทางสังคมอนุญาติให้ทำได้มันก็จะไม่มีปัญหา (โดยเราจะใช้การอ้างอิงจากสิทธิมนุษยชนเป็นหลักแล้วกัน) เช่น ถ้ากฎหมายบอกว่า “ห้ามผู้หญิงขับรถ” เราก็จะพบว่ากฎหมายนั้นไม่ Make Sense แต่ถ้าเราบอกว่ากฎหมาย “ห้ามฆ่าคน” เราจะรู้สึกว่ามัน Make Sense สิ่งนี้จึงเป็นตัวที่บ่งบอกว่า กฎหมายนั้น ไม่ได้สะท้อนสิทธิมนุษยชน จริยธรรม และบรรทัดฐานของสังคม เสมอไป

นี่เป็นที่มาของกระบวนการศาล และสาเหตุที่ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง “บริหาร” กับ “ตุลาการ” เพราะ ตำรวจอาจจับคนที่ฆ่าคน แต่ถ้าสืบทราบพบว่า คนที่เขาฆ่าคือคนที่พยายามทำร้ายร่างกายหรือข่มขืนเหยื่อ ผู้ฆ่าก็สมควรได้รับความเป็นธรรมและปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Facebook เป็นเจ้าของ Platform ต่อให้จะว่าอย่างไรก็ตาม Facebook ก็มีสิทธิ์ในการควบคุมเนื้อหาบน Platform ของตัวเอง “แต่” อย่าลืมว่าในแต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรม ทุกอย่างมีเหตุผลและมีที่มาที่ไปของตัวมันเอง โดยเราต้องพิจารณาจากบริบท และสถานการในตอนนั้น เช่น สมมติว่าผมบอกว่า “ห้ามเสียงดัง” หลายคนก็อาจจะบอกว่า ผมจะมาห้ามได้ยังไง ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าผมบอกว่า “ห้ามเสียงดังเพราะจะรบกวนการทำงานของแพทย์” ประโยคนี้ก็จะดู Make Sense ขึ้นมา และทุกคนก็จะยอมรับกันได้

เช่นเดียวกัน การโพสต์ว่า “ใครมีรถถังให้เช่าบ้าง กูจะขับไปจ่อยิงหน้าบ้านไอ้เหี้ยตู่” ในบริบทที่ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับอำนาจอันไม่ชอบธรรมที่กำลังกดขี่เราอยู่นั้น จึงควรพิจารณาจากบริบทด้วยเช่นกัน และการบอกว่า โพสต์ดังกล่าวผิดต่อนโยบายของ Facebook จึงเป็นเพียงการให้เหตุผลโง่ ๆ ที่ไม่พิจารณาบริบท ซึ่งเป็นการช่วยรัฐบาลปิดกั้นการแสดงออก

นึกภาพว่ามีคนกำลังโดนทำร้ายในห้องสมุด แล้วมีคนตะโกนเสียงดัง แล้วแทนที่ผู้ดูแลห้องสมุดจะให้ความช่วยเหลือ แต่กลับบอกว่า “อย่าเสียงดังนะคะ นี่คือห้องสมุด” จึงเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก

Facebook ในฐานะ Platform ขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางบริบท การเมือง สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา จึงควรพิจารณาถึงบริบทดังกล่าวในการออกแบบนโยบาย และอัลกอริทึมที่ใช้ในการตรวจสอบเนื้อหา เพราะสุดท้าย ถ้าเราเพียงแค่ใช้กรอบคิดอย่างง่าย ๆ ว่าห้ามทำนู่นห้ามทำนี่ เราจะไม่สามารถสร้างสังคมที่ Inclusive อย่างแท้จริงได้ และสุดท้ายก็จะเป็นการเพิกเฉยต่อผู้ถูกกดขี่ และกลายเป็นจะสนับสนุนและเพิ่มอำนาจให้กับผู้ที่ใช้ Hard Power พูดง่าย ๆ ก็คือ Facebook กำลังเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจอันไม่เป็นธรรมอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ซึ่งเราก็อยากให้ Facebook สำนึกถึงกรณีของ Cambridge Analytica มาก ๆ ว่าความขาดความรู้ด้านการสร้างสังคม Inclusive นั้นนำมาซึ่งอะไร นำมาซึ่งความตายของคนกี่คน ยังไม่รวมกรณีท่าทีต่อประเทศเมียนมา และประเทศไทย ที่น่าตั้งคำถามอีกมากมาย สุดท้าย การสร้างสังคมที่ Inclusive สำหรับอำนาคต ไม่ใช่แค่การรับพนักงานจากหลายชนชาติ หลายวัฒนธรรม แต่คือการเข้าใจที่แท้จริงต่อความหลากหลายและอำนาจในสังคมมนุษย์

ผมขอดักไว้ก่อนว่า คงจะมีคนมาแชร์ว่า ไม่พอใจก็ไม่ต้องเล่น Facebook เอาจริงก็คือ ผมรู้อยู่แล้วแหละ แต่แค่กำลังจะบอกว่า “ถ้า Facebook ไม่ยอมทำความเข้าใจต่อปัญานี้อย่างจริงจัง Facebook จะกลายเป็นระเบิดเวลาแห่งการปิดกั้นเสรีภาพทางประชาธิปไตยของโลกใบนี้ (อีกครั้ง)” และผมไม่ต้องแคร์ก็ได้ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า อำนาจที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบจริง ๆ

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
1 กันยายน 2021