June 9, 2018

เรากลายเป็นเด็กปี 1 สองรอบแล้ว รอบแรกคือตอนที่เราสอบ (สัมภาษณ์) เข้าวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาคภาษาอังกฤษที่บางมด ส่วนรอบที่สองคือตอนนี้ที่เราอยู่ ปี 1 นิเทศจุฬา สิ่งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า “มึง กูซิ่วดีป่ะวะ“ กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงได้ในทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัย เราไม่แปลกใจเท่าไหร่

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลกจากสภาพแวดล้อมของเด็กมัธยม ต้องเปลี่ยนมาเป็นเด็กมหาลัย แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่เราอาจจะคุ้ยเคย ได้เจอเพื่อนที่เราอาจจะเคยเจอตอนมัธยม แต่เชื่อเถอะ มหาลัยคือสิ่งใหม่จริง ๆ สิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งที่เราคิดไว้ว่ามันจะเป็นยังไงแต่ยังไม่เคยได้สัมผัส ไม่แปลกใจที่ความคิดการซิ่วจะเป็นสิ่งนึงที่อยู่ในหัวของเด็กน้อยปี 1 พร้อมที่จะ activate ตลอดเวลา

เหตุผลของการซิ่ว ปัญหาจริง ๆ คืออะไร

“มึง กูไม่มีเพื่อนเลย กูเรียนไม่รู้เรื่อง กูกินข้าวคนเดียว กูไม่โอเค“ หยุด! ถ้าเรายังใช้เหตุผลอะไรแบบนี้มาคิดตัดสินใจ ให้ Pause ไว้ก่อน ไม่ได้บอกว่ามันงี่เง่าหรือเป็นไม่ให้ซิ่วหรือลาออก หรือดร็อป อะไรก็แล้วแต่ แต่ประเด็นคือ นี่ไม่ใช่วิธีการคิดที่โอเค

มึงแต่กูไม่โอเค กูไม่ไหวแล้ว … เออ กูรู้มึงไม่ไหว แต่ปัญหาจริง ๆ คืออะไร Henry Ford นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ford เคยพูดเอาไว้ว่า “There are no big problems, there are just a lot of little problems” อธิบายง่าย ๆ ก็คือ แม่งไม่มีหรอกปัญหาใหญ่ แต่มันเกิดจากปัญหาเล็ก ๆ หลาย ๆ อันที่มันกั้นขวางทางจนเราคิดว่ามันคือปัญหาใหญ่

เวลาที่เราพยายามจะแก้ปัญหาเราต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด วิธีการง่าย ๆ คือถอยออกมาให้เรามองเห็นภาพรวมมันทั้งหมด อย่าตัดสินใจซิ่วตอนพักกลางวันที่ไม่มีเพื่อนกินข้าวด้วย, อย่าตัดสินใจตอนกำลังเรียนแล้วพบว่า โห เหี้ยไรเนี่ย เรียนไม่รู้เรื่องเลย ถอยอกมาในสภาพแวดล้อมที่เรารู้สึกสบาย คุ้นชินกับมัน แล้วลอง List ปัญหาออกมาเป็นข้อ ๆ

ปัญหาที่แก้ได้ กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ .. เมื่อสองเดือนก่อน เราอ่านหนังสือชื่อ The Subtle Art of Not Giving a Fuck เป็นหนังสือที่พออ่านจบแล้วรู้สึกว่า เออ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ช่างแม่ง เช่น ระบบการศึกษาไทยมันเหี้ย Everything ในโลกมัน Fucked up เกลียดทุนนิยม เกลียดสัมปทานรถไฟฟ้า เกลียดประยุทธ์ เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง คือ … มึงแก้ไม่ได้ จบนะ เสียเวลา รับรู้ได้ ต่อต้านได้ อย่าไปแบกรับก็พอ เราแก้ที่ตัวเองก่อน

ทีนี้กลับมาที่ปัญหาที่แก้ได้ ลองนึกปัญหาออกมาว่ามีอะไรบ้าง เราอยากซิ่วเพราะอะไร มีเหตุผลอะไร อันนี้แก้ยังไง …

หาประโยคสัญลักษณ์ของปัญหา

ตอนเรายังเป็นเด็กน้อย ปัญหาที่ยากที่สุดคือโจทย์ปัญหาโง่ ๆ เอ้า ตอนอนุบาลมึงสอนว่า 2+2 = 4 นี่คือปัญหาเด็กน้อย แต่พอเข้าประถมมา จะต้องมาเรียนโจทย์ปัญหา ลุงสมชายมีนา 2 ไร่ ป้าสมศรีมีนา 2 ไร่ พอทั้งคู่ตาย เขาแบ่งให้ลูก 4 คนเท่า ๆ กัน คำถามคือลูกจะได้นาคนละกี่ไร่ โอ้ย เชี่ยไรเนี่ยครู พอซักพักครูก็จะบอกว่าเขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ก่อน พอเราลองมานั่งคิดดูเราก็จะได้ว่า (2+2)/4 = 1 จบ นี่แหละ วิธีการแก้ปัญหาด้วยการไม่มองมันเป็นปัญหาใหญ่ แต่มองมันเป็นปัญหาย่อย ๆ แล้วแก้มันไปทีละจุด

การที่เราไม่โอเค นั่นเป็นปัญหาใหญ่ แล้วมันก็แย่มาก เราเข้าใจ แต่การที่เราบอกว่ามีปัญหาใหญ่อยู่ 1 ปัญหา มันไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ ตอนที่เราจะซิ่วตอนแรก เราเราทุกอย่างมาปนกันจริง ๆ เรียนไม่รู้เรื่อง, บ้านไกล, เหนื่อย, หาเงินไม่ทัน, อยากทำงานมากกว่า จนเราไม่รู้ว่าสุดท้ายปัญหาของเราจริง ๆ คืออะไร ใครถาม ตอบไม่เหมือนกันซักคน แต่พอมานั่งคิดดูแล้ว เรามีเหตุผลนี้ที่มันมี weight สูงสุด แล้วเราเชื่อว่ามันแก้ได้ด้วยการซิ่ว ก็โอเค แต่ไม่รับประกันนะว่ามาเรียนที่ใหม่แล้ว จะไม่เจอกับปัญหาใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็เจออยู่มั่ง (ฮา)

บทเรียนจาก Steve Jobs ดร็อปเรียนเพื่อมาเรียนวิชาที่อยากเรียน

สำหรับเรา Steve Jobs คือไอดอลนักลาออกในตำนาน อย่างที่รู้กันคือ Jobs เรียนไม่จบจากมหาลัย แต่คิดว่ามีน้อยคนที่รู้วิธีการคิดของ Steve Jobs จริง ๆ ใช่ Jobs ก็เหมือนเรา Jobs เบื่อการเรียน ไม่สนุกกับมัน รู้สึกเสียดายเงินที่พ่อแม่เก็บออมมาทั้งชีวิต แต่ Jobs ไม่ได้อยากหยุดหาความรู้ ทันทีที่แล้วดร็อป เขาไปลงเรียนวิชาที่ไม่ได้อยู่ในคณะของเขา วิชานั้นคือการออกแบบตัวอักษร

Jobs เลือกเรียนมันโดยที่ไม่รู้เลยว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ความรู้จากชั้นเรียนนั้น จะทำให้คอมพิวเตอร์ Mac กลายเป็นคอมพิวเตอร์ที่ให้ความสำคัญกับอักษรรูปแบบต่าง ๆ Serif, Sans-Serif แทนที่จะเป็น monotype เชย ๆ และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เรามีฟอนต์ใช้กันจนถึงทุกวันนี้ เกิดธุรกิจต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับฟอนต์ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการดร็อปของ Jobs ในตอนนั้น

ลากเส้นต่อจุด เราไม่รู้หรอกว่าจุดจะพาเราไปถึงไหน

Jobs เรียกวิธีคิดนี้ว่าการลากเส้นต่อจุด ถ้าเราคิดได้ว่าการตัดสินใจต่าง ๆ ของเรา ณ ตอนนี้ มันไม่ได้มีผลอะไรกับอนาคตมากขนาดนั้น (แน่นอน เราเดาอนาคตไม่ได้) เราจะไม่รู้สึกผิดที่จะเลือกตัดสินใจอะไรบางอย่าง สุดท้ายเมื่อเราไปอยู่ ณ จุดจุดนึงในอนาคตแล้วเรามองย้อนกลับมา เราจะเห็นความชัดเจนของมันเอง เพราะการตัดสินใจนั้นทำให้เราได้มาอยู่ตรงจุดนี้

ตัวเราในอนาคตที่กำลังเรียนอย่างมีความสุข ได้ทำงานที่รัก เมื่อมองย้อนกลับมาอาจจะไม่เสียดายเลยก็ได้ที่เราตัดสินใจซิ่ว ณ ตอนนั้น หรือแม้กระทั่งหากเรารู้สึกว่าไม่ความสุข บางอย่างก็อาจจะบอกเราอยู่ดีว่า ก็ยังดีที่การตัดสินใจของเราตอนนั้นไม่ได้ทำให้มันแย่ไปมากกว่านี้

เรารู้อดีตเป็นแผนที่ เราตัดสินใจได้เฉพาะปัจจุบัน แล้วเรากำลังเดินทางไปสู่อนาคต สิ่งนี้คือสิ่งที่เราใช้เตือนใจตลอดเวลาจะตัดสินใจอะไร ทุกวันนี้เราก็มีความสุขนะที่การตัดสินใจตอนนั้น การหยุดเรียน 1 ปี ทำให้เราได้ทำเว็บอวกาศเท่ ๆ กับ @Kornkt แล้วคนก็ชอบมัน กลายเป็นว่าการตัดสินใจหยุดเรียนตอนนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับเราในช่วงชีวิตนี้เลยก็ว่าได้

ใด ๆ ในโลกล้วนเป็นความคาดหวัง มองความรู้สึกด้วยภูเขาน้ำแข็ง

แม้ว่าเราจะแก้ปัญหาแล้วตัดสินใจได้แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลยก็คือเอาชนะความคาดหวัง สิ่งที่เรียกว่าความคาดหวังหรือ Excpectation มันทำร้ายคนได้จริง ๆ มันทำให้ลูกคนนึงกลัวว่าตัวเองจะเป็นเด็กอกตัญญู หรือทำให้เราไม่กล้าตัดสินใจอะไรบางอย่าง หรือทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้า

Virginia Satir นักจิตวิทยาครอบครัว ได้เขียนโมเดลโมเดลนึงที่ปัจจุบันใช้สำหรับการบำบัดโรคซึมเศร้า Satir บอกว่า คนเราคนนึงเป็นปัจเจกของภูเขาน้ำแข็ง 1 ก้อน สิ่งที่โผล่พ้นน้ำคือส่วนที่เรียกว่า Behaviour สิ่งที่เราแสดงออกมา เป็นสิ่งเดียวที่เราทำให้คนเห็นเห็นได้ ผ่านการพูด, การแสดงออก หรือการถ่ายทอด

ทุกสิ่งนอกจาก Behaviour มันจมอยู่ใต้น้ำ แต่กลับมีผลต่อกันขึ้นมาเป็นชั้น ๆ Coping คือสิ่งที่เรานิยามปัญหา กูอยากลาออกโว้ย อะไรประมาณนี้, Feeling ความรู้สึก เช่น กลัว ไม่ปลอดภัย กังวล, Feeling about Feeling นอกจากความรู้สึกแล้วยังมีความรู้สึกต่อความรู้สึก เช่น กูกลัว กูมันกาก ขี้แพ้จังเลย สิ่งนี้ในหนังสือเรื่อง The Subtle Art.. ก็พูดถึงเหมือนกัน Mark Manson ผู้เขียนเรียกมันว่า The Feedback Loop From Hell มันคือวิธีคิดที่ทำให้เราจมอยู่กับความรู้สึกแย่ ๆ เรารู้สึกแย่เพราะเรารู้สึกแย่ แล้วเราก็รู้สึกแย่ที่เรารู้สึกแย่

ลึกลงไปกว่านั้นมันคือ Perception การรับรู้ เราเป็นคนยังไง นิสัยยังไง มีวิธีคิด mindset มุมมองการมองโลกยังไง มีความเชื่อยังไง สิ่งนี้ควบคุมชุดความรู้สึก (feeling) ของเรา ทีนี้มาถึงส่วนที่มักจะทำให้เกิดปัญหามากที่สุดคือ Excpectation หรือความคาดหวัง เห็นหรือยังว่าความคาดหวังมันไม่ได้แก้กันง่าย ๆ เพราะมันอยู่ส่วนที่ลึกมาก ๆ ในความรู้สึกของคนหนึ่งคน

แต่ประเด็นก็คือ ความรู้สึกอาจจะไม่ได้แก้ได้ง่าย แต่เราเข้าถึงมันได้ และรู้ได้ว่ามันต้องเข้าถึงผ่านอะไรบ้าง สิ่งต่าง ๆ ที่เราแสดงออกมา หรือพ่อแม่แสดงออกมามันอาจจะไม่ใช่ Expectation จริง ๆ ก็ได้ มันอาจจะเป็น Feeling หรือ Perception บางอย่าง แต่ถ้าเราสามารถลงลึกไปหาความคาดหวังได้ว่าจริง ๆ แล้วเขาคาดหวังอะไร เราก็สามารถเข้าใจเขาได้อีกระดับนึงว่า ทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น

ส่วนเรื่อง Yaring หรือ Self เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เป็นชุดความคิดที่ควบคุมความรัก หรือความต้องการอิสระ ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของมนุษย์ ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันมากเพราะส่วนมากก็เหมือนๆ กันหมด เช่น มนุษย์ต้องการความรัก, ต้องการความปลอดภัย ส่วน Self มันคือจิตวิญญาณ ที่เข้าถึงได้ยากที่สุด

เราต้องการอะไร ? ถ้ายังไม่แน่ใจ หรือยังไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ อยากให้ลองอ่านหัวข้อถัดไป

ทิ้งท้ายชีวิตคือการเดินตลาด ไม่ใช่ไต่บันได

เรามองทุกอย่างในโลกเป็นตลาด ไม่ใช่ขั้นบันได เหมือนชีวิตคือการเดินตลาด ถ้าเรามองว่าเป็นขั้นบันได คือเราต้องไต่ไปให้ถึงยอด ผ่านทางที่คนปูเอาไว้ ขึ้นไปถึงยอดแล้วไง ?
แต่ถ้ามองว่าชีวิตคือการเดินตลาด มันก็แค่เดินชมของ อุ๊ย ร้านนี้อร่อยจังเลย ซื้อไปเดินกินระหว่างทาง ลองชิมอันนี้แล้วไม่อร่อยก็ไม่ซื้อ เดินดูไปเรื่อย ๆ ผ่านประสบการณ์นู่นนี่
แม้กระทั่งโรงเรียน, เพื่อน, มหาลัย, การทำงาน มันคือร้านค้าที่เราเจอ

เราไม่ได้ไต่โรงเรียนเพื่อขึ้นไปยังจุดที่สูงกว่า แต่เรา “แวะ” ไปโรงเรียนเพื่อไปหาอะไรที่เราอยากได้ติดไม้ติดมือมา คนบางคนอยากได้ของไม่เหมือนกัน ชอบอะไรไม่เหมือนกัน ความต้องการไม่เท่ากัน บางคนแค่ดูก็มีความสุข บางคนแค่ชิม บางคนอยากเอามาเดินไปกินไป
สุดท้ายพอถึงจุดจบ เราก็แค่คิดทบทวนว่าเราได้กินอะไรอร่อย ๆ มาบ้าง จากนั้นก็ออกจากตลาดไปและไม่ได้กลับมาอีก

เราไม่รู้นะว่าแต่ละคนมองแบบไหน หรือเลือกที่จะทำแบบไหน แต่เราอยากเดินตลาดว่ะ (ฮา) เดินตลาดแล้วบันทึกโน๊ตทิ้งเอาไว้ว่า มึง ๆ ร้านนี้อร่อยโคตร พอเราออกจากตลาดไป แล้วก็มีคนมาอ่านบันทึกเรา

การซิ่วสำหรับเรามันเหมือนเจอร้านที่ไม่อร่อย เราจะฝืนกินต่อให้พออิ่มก็ได้ หรือถ้าไม่อยาก การเดินไปร้านอื่นเพื่อลองชิมสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะอร่อยกว่า ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเหมือนกัน สิ่งนี้ใช้ได้ยาว ๆ จนถึงการทำงาน, การตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิต เพราะสุดท้ายแล้ว คุณก็แค่เดินออกจากตลาดนี้ไปเงียบ ๆ เหมือนกับคนอื่น ๆ เช่นกัน

อัพเดทล่าสุด: ลาออกแล้ว